ชวนรู้จัก Game Developer หนึ่งในงานสายไอทีที่เป็นที่ต้องการไปทั่วโลก
1 September 2022
ชวนส่องอาชีพ ‘นักพัฒนาเกม’ ผู้อยู่เบื้องหลังความสนุกของคนทั่วโลก
นักพัฒนาเกม หรือในภาษาอังกฤษคือ Game Developer คือคนผู้ที่อยู่เบื้องหลังเกมสุดเจ๋งมากมาย เป็นคนที่คอยผลิตและสร้างสรรค์เกมทุกชนิด ตั้งแต่เกมบน PC เกมคอนโซล ไปจนถึงเกมบนสมาร์ทโฟน จากผลการสำรวจของ Mordor Intelligence ระบุว่าในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเกมทั่วโลก มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้าและจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2027 เป็นอย่างน้อย
ด้วยความต้องการในสายอาชีพที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ทำให้เหล่านักพัฒนาเกมกลายเป็นหมายตามากขึ้น วันนี้ Tech Up จะขอชวนทุกคนไปส่องรายละเอียดอาชีพในฝันของใครหลายๆ คน ใครที่กำลังอยากโยกย้ายสายงานเปลี่ยนอาชีพไปเป็นโปรแกรมเมอร์ด้านการพัฒนาเกมแล้วล่ะก็ เตรียมตัวให้พร้อมแล้วไปอ่านกันเลย
หน้าที่ภายในทีมนักพัฒนาเกมมีอะไรบ้าง
1. วางแผนเนื้อเรื่องของเกมส์ (Game Designing)
ในขั้นตอนแรกของการสร้างเกมขึ้นมา ทั้งทีมจะต้องมีการสร้างเค้าโครงทั้งหมดขึ้นมาก่อนจะเริ่มพัฒนา โดยจำเป็นต้องมีการสร้างเฟรมเวิร์คขึ้นมาใช้ร่วมกันในทีม ต้องมีการกำหนดทั้งอุปสรรค จุดคลี่คลาย สไตล์เกม และเนื้อเรื่องอย่างละเอียด เพื่อให้มีคอนเซปและตีมไปในทางเดียวกันตลอดทั้งกระบวนการสร้าง ปกติแล้วหน้าที่นี้ นักออกแบบเกม (Game Designer) ของทีมจะเป็นคนรับผิดชอบเป็นหลัก แต่ทุกคนภายในทีมจะต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับเกมร่วมกันให้ได้
2. การสร้างกราฟิก (Art)
ทีมนักสร้างเกมต้องทำการสร้างฉาก ตัวละคร รวมถึงวัตถุให้ตรงตามเค้าโครงและคอนเซปที่วางเอาไว้ในขั้นตอนการออกแบบ สิ่งที่สำคัญในขั้นนี้คือการเลือกโทนสี สไตล์ของภาพกราฟิก การสร้างแอนิเมชัน ที่จะช่วยสื่อถึงอารมณ์ตามวางแผนเอาไว้
3. สร้างเสียงประกอบ (Sound)
เอฟเฟกต์เสียงและดนตรีเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยทำให้เกมมีบรรยากาศตรงกับที่วางแผนไว้ รวมถึงใช้สร้างอารมณ์ร่วมได้ ดังนั้น ทีมนักพัฒนาเกมจำเป็นต้องดูแลเรื่องเสียงและซาวน์เอฟเฟกต์ต่างๆ ที่ใช้ในเกมด้วย
4. โค้ดดิ้ง (Programming)
เมื่อผู้สร้างได้ทำการพัฒนาไอเดีย ออกแบบเนื้อเรื่อง และตัวละครเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่การโค้ดดิ้งเกม เพื่อนำเสียง ฉาก ตัวละครและเนื้อเรื่องมาประกอบร่างให้อยู่ในภาษาที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ ในขั้นนี้ ตัวโปรแกรมเมอร์สามารถใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่หลากหลายร่วมกันได้ เพื่อให้องค์ประกอบต่างๆ ของเกมทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
5. ทดสอบเกม (Testing)
มาถึงขั้นสุดท้าย ทีมพัฒนาจะต้องส่งเกมไปให้นักทดสอบเกม (Game Tester) ได้เล่นก่อน เพื่อหาว่าเกมมี Bug หรือข้อบกพร่องหรือไม่ จะได้ส่งไปให้ฝ่ายพัฒนาแก้ไขปรับปรุงก่อนที่จะมีการปล่อยตัวเกมออกสู่ตลาดจริง
คุณสมบัติและทักษะที่จำเป็นของนักพัฒนาเกม
Hard Skills ที่จำเป็น
Programming
พื้นฐานของการทำงานในสายนักพัฒนาหนีไม่พ้นการโค้ดดิ้งให้เป็น สำหรับภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญสำหรับสายพัฒนาเกม จะเป็นภาษา C#, C++ เป็นหลัก และอาจมีการใช้ Javascript, Python และ Java เข้ามาผสมด้วย
Game Design
การออกแบบเกมคือขั้นตอนเริ่มต้นในการผลิตเกมทุกเกม เรื่องนี้จึงไม่ต่างกับการวางกลยุทธ์ให้กับผลิตภัณฑ์ เกมจะมีความสนุกได้ จำเป็นต้องมีการออกแบบวางแผนในส่วนนี้ให้ดีและชัดเจน นักพัฒนาเกมจำเป็นต้องเข้าใจวิธีการวางโครงเรื่องในการผลิตและการสร้างเฟรมเวิร์คเกม รวมถึงต้องรู้จักการวางสไตล์เกมให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
Game Engine
ซอฟต์แวร์ในการสร้างเกมคือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาเกม นอกจากนี้ การเลือกใช้ Engine ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของเกมที่จะสร้าง โดยเอนจีนที่ได้รับความนิยมและให้บริการฟรีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ Unity, CryEngine และ Unreal Engine
Graphic/Animation
เพื่อที่จะสร้างเกมที่มีความน่าสนใจและดึงดูดสำหรับผู้เล่น ฉากและงานกราฟิกที่สวยงามก็มีส่วนสำคัญ การทำภาพกราฟิก, Interactive, UX/UI หรือภาพเคลื่อนไหวในเกมจึงเป็นสกิลที่ขาดไม่ได้
Soft Skills ที่จำเป็น
การสื่อสาร
ทักษะนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะในการทำงานเป็นนักพัฒนาเกมจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับคนหลายๆ ส่วน ต้องเข้าใจว่า ในการผลิตเกมออกมาสู่ตลาดได้นั้น ไม่ได้อาศัยแค่ทีมนักพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีทีมขายหรือทีมกราฟิกที่ต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้น นักสร้างเกมจำเป็นต้องรู้วิธีการอธิบายสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในลักษณะที่เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับทุกคน
ความคิดสร้างสรรค์
นักพัฒนาเกมจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นของการดีไซน์เกม เพื่อให้เกมที่ออกมาถูกใจผู้เล่นในตลาด ไอเดียของทีมนักพัฒนาเกมจะต้องมีความแปลกใหม่และดึงดูดมากพอที่จะสร้าง traffic ผู้เล่นได้
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
การพัฒนาเกมมีพื้นฐานมาจากการเขียนโปรแกรม ซึ่งธรรมชาติของงานสายนี้จำเป็นต้องใช้ตรรกะในการทำงานรวมถึงต้องคอยแก้ปัญหาและข้อบกพร่องของตัวโปรแกรมอยู่เสมอ ดังนั้น นักพัฒนาเกมก็จำเป็นต้องฝึกสกิลนี้อยู่ตลอดไม่ต่างกับคนที่ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์หรือนักพัฒนาในสายอื่น
อยากเป็นนักสร้างเกมต้องเรียนสายอะไร
แม้ว่าปัจจุบันนี้การจบตรงสายไม่ได้มีผลกับการเป็นนักพัฒนาเกมมากขนาดนั้น เพราะหลายทักษะสามารถศึกษาได้จากสื่อบนโลกออนไลน์แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่รู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วอยากรู้ว่าต้องเรียนอะไรถึงจะทำงานด้านนี้ได้ การเรียนจบสายตรงมาจากคณะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้ก็คือคณะวิศวะกรรมคอมพิวเตอร์ หรือพวกคณะสายไอที ก็ตรงจุดและช่วยล่นระยะเวลาในการเรียนรู้ได้พอสมควร ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจมีรายละเอียดหรือมีชื่อเรียกคณะไม่เหมือนกัน จึงแนะนำว่าให้ดูประมวลรายวิชาของทางภาควิชานั้นประกอบด้วย รายชื่อมหาวิทยาลัยในไทยที่เปิดสอนหลักสูตรการพัฒนาเกมโดยตรง เช่น
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม หลักสูตรเกมและอินเทอร์แอคทีฟ)
- มหาวิทยาลัยรังสิต (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต)
- มหาวิทยาลัยศิลปากร (คณะวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต)
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการพัฒนาสื่อประสม และเกม) เป็นต้น
ขณะนี้ทาง TechUp มีคอร์สสอนทักษะพื้นฐานสำหรับคนที่ต้องการทำงานในสายอาชีพนักพัฒนา ซึ่งผู้เรียนสามารถนำความรู้จากการเรียนกับเราไปต่อยอดต่อได้ทั้งสายนักพัฒนาเว็บ พัฒนาซอฟต์แวร์ รวมถึงนักพัฒนาเกม ภายในหลักสูตรผู้เรียนจะได้เรียนรู้ครบทั้ง Technical Skills, Soft Skills, English Skills และ Career Skills ให้ผู้เรียนพร้อมรับการทำงานในสนามจริงได้ทันทีหลังเรียน หากใครรู้สึกสนใจลองดูรายละเอียดคอร์สของเราได้เลยที่นี่
บทความที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด